Go to content

กินคาร์โบไฮเดรตเยอะทำให้อ้วนจริงเหรอ

คาร์โบไฮเดรต แหล่งพลังงานสำคัญต่อการดำรงค์ชีวิต แต่การทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินความจำเป็นสามารถทำให้เราอ้วนขึ้นได้ เราจึงต้องรู้ที่มาและวางแผนการทานให้ถูกต้อง

crab to energy

อย่างที่เราเคยเรียนกันมาสมัยเด็กๆ อาหารหมู่สองจากอาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกายคือ คาร์โบไฮเดรต หรือเรียกสั้นๆย่อๆว่า “คาร์บ”

คาร์บเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย มีอยู่ในอาหารจำพวก ข้าว เมล็ดพืช ผลไม้ ผัก พืชหัว เครื่องปรุงที่มีรสหวาน นอกจากนี้การการผลิตอาหารเกือบทุกชนิด จะมีน้ำตาลอยู่ ซึ่งน้ำตาลก็มากจากอ้อย หรือ น้ำหวานของพืชนั่นเอง เรียกได้ว่าเราทานคาร์บกันตลอดแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมจะให้พลังงานแก่ร่างกายประมาณ 4 kcal

ทำไมร่างกายของเราจึงต้องการคาร์โบไฮเดรต

ร่างกายคนเราใช้พลังงานจากสองแหล่งใหญ่คือ พลังงานจากไขมัน และ พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ซึ่งคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญแหล่งใหญ่ของร่ายกายเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรมและการขับเคลื่อนระบบอวัยวะต่างๆ สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ ให้ทำงานและดำรงค์ชีวิตอยู่ได้นั่นเอง

กินคาร์โบไฮเดรตเยอะๆแล้วทำให้อ้วนจริงเหรอ?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจหลักการของการย่อยคาร์บมาเป็นพลังงานเสียก่อน เมื่อร่างกายได้คาร์บเข้าไปไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด จะข้าว น้ำตาล แป้ง ขนมปัง ผลไม้ ผัก คาร์บเหล่านี้จะถูกย่อยเป็นโมเลกุลที่เล็กลง คือกลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดียวหรือที่เรียกว่า กรูโคส และจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปตามเซลต่างๆและนำไปใช้เป็นพลังงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย

จากนั้นส่วนที่เหลือจะถูกลำเลียงนำไปเก็บเอาไว้ในตับและกล้ามเนื้อ หรือ ที่เรียกว่า “ไกลโคเจน” ส่วนที่เหลือจากเก็บในกล้ามเนื้อและตับ (ไกลโคเจน) อีกส่วนที่เหลือจากเก็บจะถูกตับแปรสภาพกักเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองในรูปแบบของไขมัน ซึ่งไขมันเหล่านี้จะค่อยๆสะสมพอกพูนขึ้นใต้ชั้นผิวหนังและตามอวัยวะภายในต่างๆ เราจึงค่อยๆอ้วนขึ้น เพราะอย่าลืมว่าทุกครั้งที่ร่างกายใช้พลังงาน ร่างกายจะใช้พลังงานจากอาหารที่ทานเข้าไปก่อน จากนั้น มาใช้พลังงานไกลโคเจน เมื่อทั้งสองแหล่งนี้หมดลงจึงจะดึงไขมันสะสมมาใช้ ตามลำดับ

นอกจากนี้อีกเหตุผลนึงที่ทำให้คาร์บเป็นตัวการของความอ้วนคือ การทานคาร์บที่ย่อยไว อย่างแป้งขาว ขนมปัง น้ำตาล ขนมหวาน น้ำอัดลมในปริมาณมากเกินไป คาร์บเหล่านี้เป็นคาร์บที่ร่างกายดูซึมได้ง่ายเมื่อดูดซึมง่ายก็จะทำให้มีน้ำตาล(กลูโคส)อยู่ในกระแสเลือดมาก

เมื่อมีน้ำตาลมากขนาดนั้น ร่างกายจะส่งสัญญาณไปที่ตับอ่อนให้เพิ่มระดับอินซูลินขึ้นแพื่อลดระดับน้ำตาลเลือด โดยการเร่งนำพลังงานไปใช้ในระบบ เก็บเป็นไกลโคเจน แต่ด้วยกลูโคสมีจำนวนมากและปริมาณกล้ามเนื้อมีจำนวนจำกัดหรือไม่สามารถกักเก็บได้ทัน จึงนำไปเก็บไว้ในรูปไขมันสะสมที่ทำได้ง่ายและไม่มีพื้นที่จำกัดแทน

กรณีที่จะทำให้ได้รับคาร์บมากเกินไป

ทานคาร์บรวมต่อวันมากเกินไป

การทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินกว่าการนำไปใช้และการเก็บในแต่ละวัน ทำให้มีส่วนของพลังงานเหลืออยู่มาก พื้นที่ในการจัดเก็บไกลโคเจนก็มีจำนวนจำกัด เมื่อเป็นเช่นนี้พลังงานส่วนที่เหลือจึงแปรสภาพเป็นไขมันสะสม

ทานเยอะเกินไปในคราวเดียว

การทานมื้อหนัก หรือการทานคาร์บที่ย่อยเร็วครั้งละมากๆจะทำให้ร่างกายไม่สามารถกักเก็บพลังงานได้ทัน ทั้งที่ยังมีพื้นที่ในกล้ามเนื้อว่างอยู่ ร่างกายจึงเลือกที่ลดปริมาณน้ำตาลโดยการจัดเก็บในรูปแบบของไขมันที่ง่ายและเร็วกว่า

ไม่ทานคาร์โบไฮเดรตเลยได้ไหม

เมื่อมาถึงตรงนี้หลายคนคงขยาดกลัวกับการทานแป้งไปเลย พาลจะบอกเลิกตัดขาดการทานคาร์บไป ซึ่งมีหลายทฤษฎีลดน้ำหนักที่ใช้วิธีการพร่องแป้ง หรือการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในระดับต่ำ อย่าง ทฤษฎี Atkins และ Ketogenic (จะมานำเสนอในคราวต่อไป)

ซึ่งสามารถลดปริมาณไขมันได้จริง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะการที่ลดปริมาณคาร์บให้ต่ำมากๆ จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารกลุ่ม วิตามินบี และด้วยที่คาร์บเป็นพลังงานหลักในการดำรงค์ชีวิต การลดคาร์บให้ต่ำจำเป็นจะต้องเพิ่มพลังงานให้ร่างกายจากส่วนอื่นแทนโดยการเพิ่มปริมาณการทานไขมันและเนื้อสัตว์ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับไขมันไขมันอิ่มตัวและคอเรสเตอรอล ที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตได้

นอกจากนี้เมื่อเราตัดคาร์บปริมาณน้ำตาลในเลือดของเราจะต่ำลง ปริมาณพลังงานคาร์บไม่เพียงพอทำให้การเผาผลาญไขมันไม่สมบูรณ์ ทำให้ไขมันก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารประเภท ketone ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ตับ มีผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน

ในกรณีที่อดอาหารอย่างอื่นร่วมด้วยร่างกายจะลดการเผาผลาญไขมันลง พร้อมกลับค่อยๆย่อยสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาแทน เมื่อกล้ามเนื้อน้อยจะทำให้เมื่อกลับมาทานคาร์โบไฮเดรตเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เกิดไขมันสะสมได้ไวกว่าปรกติ หรือเกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกนั่นเอง

ทานคาร์โบไฮเดรตอย่างฉลาดไม่มีอ้วน

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลจึงทำให้เราต้องเลือกวิธีการทานคาร์บอย่างฉลาด คือในแต่ละวันจะต้องกำหนดปริมาณการทานคาร์บให้พอเหมาะกับความต้องการ คือประมาณ 40% ของปริมาณพลังงานรวมที่ต้องใช้ต่อวัน และควรเลือกทานคาร์บเชิงซ้อนจำพวก ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช ที่ย่อยและดูดซึมได้ช้า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆขึ้นอย่างช้าๆ มีเวลาในการจัดเก็บพลังงานไกลโคเจนได้ทัน

นอกจากนี้การเลือกเวลาในการทานคาร์บก็สำคัญ ควรเลือกทานคาร์บในมื้อก่อนที่จะต้องใช้พลังงาน เช่นมื้อเช้า หรือมื้อก่อนออกกำลังกาย และลดปริมาณการทานคาร์บในมื้อดึก หรือ ช่วงก่อนเข้านอน เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานไกลโคเจน และลดการสะสมคาร์บเป็นไขมัน

สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือ การเพิ่มพื้นที่การกักเก็บคาร์บ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยระบายไกลโคเจน ทำให้มีพื้นที่ในกล้ามเนื้อเหลือพอที่จะกักเก็บ และการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ เมื่อมีกล้ามเนื้อมากก็สามารถเก็บไกลโคเจนได้มาก คนที่ออกกำลังกายจึงอ้วนยากกว่าคนที่คุมอาหารเพียงอย่างเดียว

References

เรียบเรียง : lovefitt

  • livestrong.com
  • nhs.uk
  • pibul.ac.th
  • healthcarethai.com
  • bodybuilding.com
  • Fit Fact Fun
  • Wikipedia

Latest