Go to content

ขนมไหว้พระจันทร์ เช็คพลังงาน กะปริมาณก่อนทาน

ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมประจำเทศกาลนี้ เป็นขนมเค้กสอดไส้ธัญพืชหลากหลายชนิด นิยมนำมาเซ่นไหว้เทพเจ้า หลังไหว้เสร็จใครจะทานอย่าลืมเช็คพลังงานก่อนทานจะดีกว่า

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงกันแล้ว ถึงแม้บ้านเราจะไม่ค่อยได้เห็นใบไม้ร่วมากนัก แต่หลายๆที่ก็ยึดทีมนี้มาเป็นสีสันกัน และแน่นอนเทศกาลนึงที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยในหมู่คนจีน และคนไทยเชื้อสายจีนที่มากับฤดูใบไม้ร่วงนี้ก็คือ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” นั้นเอง

เทศกาลไหว้พระจันทร์คืออะไร

เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมของจีนที่จะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไหม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผล มักตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (ประมาณเดือนกันยายนตามปฏิทินสากล)ของทุกปี

ในประเทศที่มีคนเชื้อสายจีนอย่าง จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย จะมีการจัดประเพณีนี้ด้วยการจัดประดับตกแต่งโคมไฟหลากสีในยามค่ำคืน และมีการเซ่นไหว้เทพเจ้า และรำลึกถึงเทพธิดาดวงจันทร์ ด้วยขนมเค้กใส่ไส้ธัญพืช หรือขนมไหว้พระจันทร์ จนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้ไปเลยก็ว่าได้

ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมยอดนิยมประจำเทศกาล

ขนมไหว้พระจันทร์ ที่ใช้เซ่นไหว้เทพเจ้าในเทศกาลนี้จะ มีตัวขนมเค้กใส่ไส้ ธัญพืช หรือเรียกว่า “ขนมเอี้ยปิ่ง” ในภาษาจีน ซึ่งมีความหมาย หมายถึง ความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ และความสมหวัง นอกจากนี้ยังมี ขนมถั่วเหลือง(ขนมโก๋อ่อน) ขนมโก๋ขาว โดยขนมทั้งหมดจะมีทรงเป็นทรงกลมที่เป็นสัญลักษณ์ของรูปดวงจันทร์

สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นขนมที่ได้รับความนิยมและขาดไม่ได้ในเทศกาล ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ จึงพากันออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบของตัวเองที่มีความหลากหลาย ทั้งวัตถุดิบและไส้ต่างๆ มีทั้งเป็นแบบดัดแปลง เป็นไอศครีมเย็นๆ หรือเป็นแบบเนื้อนุ่มแบบไดฟูกุ(ขนมญี่ปุ่น) และแบบดั้งเดิมที่ทำจากแป้งลักษณะคล้ายขนมเปี๊ยะใส่ไส้ธัญพืช ตกแต่งลวดลายสวยงาม

พลังงานในขนมไหว้พระจันทร์

ซึ่งขนมไหว้พระจันทร์ถือว่าเป็นขนมที่มีปริมาณพลังงานต่อชิ้นสูง จากข้อมูลที่ ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัยได้ให้ไว้ ขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิมที่เป็นไส้ธัญพืช ภายในมีไข่แดงของไข่เค็มอยู่ จะให้พลังงานต่อชิ้นเฉลี่ยสูงถึง 614-722 kcal เลยทีเดียว โดยพลังงานจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามไส้ต่างๆดังนี้

พลังงานต่อขนมไหว้พระจันทร์ 1 ชิ้น
ไส้หมอนทอง 640 kcal
ไส้โหงวยิ้ง 722 kcal
ไส้พุทรา 577 kcal
ไส้เมล็ดบัว 646 kcal
ไส้เมล็ดบัวและไข่เค็ม 677 kcal
ไส้ทุเรียนและไข่เค็ม 673 kcal

พลังงานที่มีอยู่ในขนมไหว้พระจันทร์ส่วนมากจะมาจาก แป้ง น้ำตาล และ ไขมัน ซึ่งหากต้องการรับประทานควรแบ่งทาน ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ทานหลายๆครั้ง หรือแบ่งทานหลายๆคน กำหนดปริมาณที่พอเหมาะพอดี และ อย่าลืมไปออกกำลังกายเพื่อให้เกิดสมดุลกับการใช้พลังงานจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

เรียบเรียง: lovefitt.com
Credit:wikipedia.org,ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย

Latest