ไขมันที่มากับอาหารเป็นสิ่งที่หลายๆคนกลัวทั้งๆที่ความจริงแล้วร่างกายนั้นยังต้องการไขมันเพื่อมาเป็นพลังงานอยู่ แต่ด้วยที่เรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเกินความพอดี จึงทำให้คนที่ทานไขมันสูงมากและบ่อยครั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต และเป็นที่มาของความอ้วน แต่กระนั้นเราไม่ควรที่จะตัดไขมันออกจากชีวิตเลยไปเสียทีเดียว แต่ควรเลือกแหล่งที่มาของไขมันที่ดี มีประโยชน์ และ ควบคุมปริมมาณให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจะดีกว่า โดยควรควบคุมปริมาณการรับประทานไขมันต่อวันไม่เกิน 65 กรัม หรือ เท่ากับน้ำมันพืชประมาณ 13 ช้อนชาต่อวัน
กิน ไขมัน แค่พอดี ไม่มีอ้วน
- เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ใช้ปรุงอาหาร ควรเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันหรือติดมันน้อย เช่น เนื้อไก่ ควรเลือกใช้ส่วนที่เป็นส่วนอกหรือสันในไก่ และหลีกเลี่ยงการใช้หนังไก่ หนังหมูในการปรุงอาหาร ควรจำกัดการบริโภคเครื่องในสัตว์ต่างๆ และไข่แดงในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดค่อนข้างสูง การบริโภคเนื้อปลาต่างๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเนื้อปลาส่วนใหญ่จะให้โปรตีนคุณภาพดีและไขมันตํ่า
- ปรับเปลี่ยนวิธีปรุงอาหารจากการทอดหรือผัดโดยใช้นํ้ามันมาเป็นวิธีการต้ม นึ่ง หรือย่าง ก็จะเป็นวิธีการที่ช่วยจำกัดปริมาณไขมันในอาหารได้อีกทาง
- สำหรับผู้ที่ดื่มนมเป็นประจำอาจเลือกดื่มนมพร่องหรือขาดมันเนยได้ เพื่อช่วยจำกัดมิให้ระดับไขมันในเลือดสูงเกินปกติ ไม่แนะนำให้งดดื่มนมไปเลย เนื่องจากนมให้โปรตีน แคลเซียมและวิตามินบี 2 ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
- ลดการกินอาหารแปรรูปพวกแฮม ไส้กรอก หมูยอ เบคอน กุนเชียง ซึ่งมีไขมันสูง
- ลดการทานอาหารที่มีไขมันเนยสูงเช่น เค้ก เบเกอรี่ ขนมปังต่างๆ
คราวนี้เรามาทายกันเล่นๆนะคะว่าเมนูเหล่านี้จานไหนมีค่าความมันมากกว่ากัน
ทายถูกไหมจานไหนมันกว่ากัน | ||||
เมนู | ค่าความมัน | ผล | เมนู | ค่าความมัน |
เส้นใหญ่ผัดซีอิ้ว 1 จาน | 7 ช้อนชา | มากกว่า | หอยแมลงภู่ทอดใส่ไข่ 1 จาน | 6 ช้อนชา |
โดัทใส้ครีม 1 ชิ้น | 2 ช้อนชา | น้อยกว่า | ผัดผักบุ้งจีน 1 จาน | 3 ช้อนชา |
เส้นใหญ่ราดหน้าหมู 1 จาน | 5 ช้อนชา | น้อยกว่า | ใส้กรอก 5 ไม้ | 8 ช้อนชา |
ไข่เจียว 1 ฟอง | 3 ช้อนชา | มากกว่า | เฟร้นช์ฟรายด์ 1 ถ้วยตวง | 2 ช้อนชา |
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็เลือกทานกันให้ถูกและอย่าลืมหาเวลาออกไปเดินหรืออกกำลังกายบ้างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเพื่อเพิ่มการเผาผลาญและความแข็งแรงให้กับร่างกายกัน
Credit: ภญ. ณัฐยาภรณ์ วงศ์บุญเกื้อกูล, เว็ปไซด์ เด็กไทยสุขภาพดี