ในปัจจุบันผู้หญิงไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น ลำปาง และมะเร็งเต้านมถือว่าเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยแซงหน้ามะเร็งปากมดลูกไปแล้ว จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่ามีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน ที่สำคัญพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีการเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมหญิงไทยอยู่ที่ 17 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2540 เทียบกับ 21 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในปี พ.ศ. 2546
สถิติผู้ป่วยใหม่ มะเร็งเต้านมในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปีและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปี | จำนวน |
2533 | 3,300 ราย |
2536 | 4,223 ราย |
2539 | 5,592 ราย |
2542 | 7,106 ราย |
2550 | 8,000 ราย |
โรคมะเร็งเต้านมจาก ที่เคยทราบมาว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคของผู้หญิงสูงวัย หรือหญิงวัยทอง แต่จากการศึกษาของกลุ่มศัลยแพทย์ในประเทศไทยกลับพบว่า อายุเฉลี่ยโดยประมาณที่เริ่มเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 40 ปี น้อยกว่าตัวเลขของต่างชาติถึง 10 ปี ทั้งยังพบมากขึ้นเรื่อยๆในผู้หญิงอายุน้อยๆ ซึ่งล่าสุดพบว่า เด็กหญิงอายุเพียง 16 ปีก็เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
จากการึกษาพบกว่าปัจจัยในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นมาจาก ปัจจัยทางพันธุ์กรรม 5-10%, การรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง, การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การรับฮอร์โมนภายนอกเป็นระยะเวลานานกว่า 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้
การป้องกันโรคมะเร็งเต้านม
เราสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ งดการทานอาหารที่มีไขมันสูง ระมัดระวังการรับประทานฮอร์โมนทดแทน และควรหมั่นตรวจเช็คเต้านมด้วยตนเอง และโดยแพทย์เป็นประจำ
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นควรทำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป และตรวจเต้านมโดยแพทย์ ทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปี เป็นต้นไป หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี และควรทำแมมโมแกรม หรือ อัลตราซาวน์ในช่วงอายุ 35-40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปีเป็นต้นไปควรทำทุก 1-2 ปี นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มีประวัติ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำการตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็นลบออก 5 ปี
สิ่งที่ตรวจพบที่ต้องระวังและมาพบแพทย์
ถ้าเจออาการต่อไปนี้ ก้อน หรือ เนื้อเต้านมหนากว่าปกติ ผิวหนังแดง หรือร้อน รูขุมขนใหญ่ขึ้นเหมือนผิวส้ม ผิวหนังบุ๋มหรือมีการหดรั้งมีการนูนของผิว ปวดกว่าปกติที่เคย คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม และฐานรอบหัวนม หัวนมบุ๋ม การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง เลือดไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หายยากของเต้านมหรือหัวนม
References
เรียบเรียง : lovefitt.com
- มะเร็งเต้านมโดย นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ
- คลินิกโรคเต้านม (Breast Clinic) โรงพยาบาลพญาไท