Go to content

รู้ทัน แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) จำเป็นไหมกับการลดความอ้วน

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) สารที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเสริมลดน้ำหนักหลากหลายประเภท ด้วสรรพคุณที่เชื่อว่าจะช่วยดึกไขมันมาใช้ ซึ่งความจริงเราควรศึกษาให้ถี่ก้วนก่อนว่า แอลคาร์นิทีน คืออะไร แล้วมีประโยชน์หรือโทษกับร่างกายหรือไม่ และ สามารถช่วยลดไขมันได้จริงหรือไม่

จากกระแสโฆษณาที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อการลดน้ำหนักที่มีมากมายหลายสูตรในตอนนี้ ที่ผู้ผลิตทำออกมาให้เลือกใช้ในหลากหลายรูปแบบทั้งแบบเม็ด แบบน้ำ หรือผสมในเครื่องดื่มต่างๆนั้น หนึ่งในสารตัวนึงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นดาวเด่นในวงการตอนนี้ นั้นก็คือ แอล-คาร์นิทีน (L-Canitine) ที่ส่วนมากจะเน้นสรรพคุณในการดึงไขมันเก่ามาใช้ เป็นตัวเร่งให้การลดน้ำหนักนั้นง่ายขึ้น ฟังดูเหมือนง่ายและดีใช่ไหม? แต่เดี๋ยวก่อน!!! ก่อนจะไปเลือกซื้อเลือกหามาทานกัน เราควรจะทราบกันก่อนว่าเจ้าดาวเด่นอย่าง แอล-คาร์นิทีน นั้นคืออะไรแล้วทำหน้าที่อะไร และส่งผลอย่างไรกับร่างกายเราบ้าง

แอล-คาร์นิทีนคืออะไร

แอลคาร์นิทีน เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ”

โดยปรกติ แอล-คาร์นิทีนนั้นจะถูกสร้างขึ้นภายในตับและไตของเราอยู่แล้ว และจะถูกนำไปเก็บไว้ในกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle) เช่น กล้ามเนื้อตามแขน ขา นอกจากนี้ยังถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในหัวใจ สมอง และสเปิร์ม (ทำให้สเปิร์มเคลื่อนที่ได้อย่างเหมาะสม เพราะแอล-คาร์นิทีนจะไปเร่งให้ไมโทคอนเดรียเปลี่ยนไขมันมาเป็นพลังงานนั่นเอง) แหล่งของคาร์นิทีนที่มีมากพบในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช ( บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน

การขาดแอล-คาร์นิทีนสามารถเกิดได้

คนที่ทานมังสะวิรัติอาจจะเกิดภาวะการขาดแอล-คาร์นิทีนได้ในบางครั้ง เนื่องจากแอล-คาร์นิทีน พบได้ในเนื้อสัตว์ นม และถั่วหมัก หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมของระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงในกรณีที่มีผู้ป่วยที่ขาดแอล-คาร์นิทีน (ซึ่งพบน้อยมาก) ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของยีน หรือตับ หรือไต หรือกินอาหารที่มีกรดอะมิโนไลซีน และเมไทโอนีนน้อย ก็จะมีอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ แขนขาล้าอ่อนแรง ความดันเลือดต่ำ และอาจจะมีอาการมึนงงสับสนร่วมด้วย เป็นต้น

ชนิดของคาร์นิทีนที่ถูกนำมาใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริม
คาร์นิทีนที่ใช้กันแพร่หลายมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

  • แอล-คาร์นิทีน (LC) เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีราคาถูกที่สุด
  • แอล-อะซิทิลคาร์นิทีน [L-acetylcarnitine (LAC)] เป็นเพียงรูปแบบเดียวที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคแอลไซเมอร์ (Alzheimer) และโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสมองโรคอื่นๆ
  • แอล-โพรพิโอนิลคาร์นิทีน [L-propionylcarnitine (LPC)] ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกและโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และใช้ได้ผลดีกับโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดตามแขนขาอีกด้วย (peripheral vascular disease – PVD)

แอล-คาร์นิทีนกับการลดน้ำหนัก

แม้ว่า L-carnitine จะขายเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก แต่ไม่มีผลการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่จะแสดงว่ามันสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาบางตัวแสดงให้เห็นว่าการทานคาร์นิทีนช่วยลดมวลไขมัน เพิ่มเป็นมวลกล้ามเนื้อ และลดความเมื่อยล้า ผลทั้งหมดนี้อาจเป็นการสนับสนุนให้ลดน้ำหนักได้โดยอ้อม
ตัวอย่าง การทดลองการใช้ แอล-คาร์นิทีน ในกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการลดน้ำหนัก โดยอ้างอิงจากการค้นคว้าหาข้อมูลของนายแพทย์ปิติ นิยมศิริวนิช พบว่ามีการศึกษาทดลองให้ L-Carnitine ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักเกิน 13 คน และเปรียบเทียบกับยาหลอก (ไม่ได้รับ L-Carnitine) 15 คน และให้รับประทานอาหารเหมือนๆ กัน และออกกำลังกายเหมือนกัน ไม่พบความแตกต่างในดัชนีมวลกาย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอยู่อีกการศึกษาหนึ่งที่นำหญิงอ้วน 36 ราย ให้ L-Carnitine 4 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 60 วัน ให้ผลไม่แตกต่างจากเม็ดแป้ง ไม่ว่าจะเป็นผลในเรื่องของน้ำหนักตัวหรือดัชนีมวลกาย แม้แต่การเผาผลาญไขมัน จากการศึกษาดังกล่าว พบว่า L-Carnitine นั้นมีส่วนช่วยในการลดความอ้วนจริง แต่น้อยมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายการศึกษาที่แนะนำให้รับประทานวันละอย่างน้อย 500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะมีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมันได้ แต่อย่างไรก็ดี L-Carnitine ก็เป็นสารที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมาก และให้ประสิทธิภาพสูงสุดหากใช้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 40-50 นาทีขึ้นไป จึงจะสลายไขมันได้อย่างแท้จริง

จะใช้แอล-คาร์นิทีนต้องระวัง

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่คิดจะซื้อแอล-คาร์นิทีนมาใช้ควรต้องระวังเพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกายได้ และอาจจะเข้าทำปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ที่กินร่วมกัน ดังนั้น ในการใช้แต่ละครั้ง ควรต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์จะปลอดภัยกว่า นอกจากนี้เราควรระลึกไว้เสมอว่า สารทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง ขึ้นกับปริมาณและช่วงจังหวะเวลาของการใช้ ถึงแม้ว่าแอล-คาร์นิทีนจะไม่ปรากฏผลข้างเคียงใดๆ ที่เด่นชัดมากนัก แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าถ้ากินเข้าไปมากขนาด 5 กรัม (5000mg.) ต่อวัน หรือมากกว่าอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ และต้องไม่ลืมว่าเราได้แอล-คาร์นิทีนจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนมอยู่แล้วด้วย ซึ่งเราไม่สามารถทราบปริมาณที่แน่นอนได้ ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจจะพบได้บ้างก็เช่นมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น มีกลิ่นตัว และเกิดมีผื่นแดง และในนักกีฬาหรือคนที่กินแอล-คาร์นิทีนเสริมสำหรับการเล่นกีฬาเพื่อช่วยในการสลายไขมันและช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น ก็ควรจะต้องหยุดใช้เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้างอย่างน้อยเดือนละ 1 อาทิตย์ คือไม่ควรใช้ต่อเนื่องติดต่อกันไปเป็นเวลานานๆ

อาหาร ปริมาณอาหาร ปริมาณคาร์นิทีน
สเต็กเนื้อ 100 กรัม 95 มิลลิกรัม
เนื้อบด 100 กรัม 94 มิลลิกรัม
เนื้อหมู 100 กรัม 27.7 มิลลิกรัม
เบคอน 100 กรัม 23.3 มิลลิกรัม
Tempeh (ถั่วหมักจากเชื้อรา) 100 กรัม 19.5มิลลิกรัม
ปลาค็อด 100 กรัม 5.6 มิลลิกรัม
อกไก่ 100 กรัม 3.9 มิลลิกรัม
เนยแข็งอเมริกา 100 กรัม 3.7 มิลลิกรัม
ไอศครีม 100 กรัม 3.7 มิลลิกรัม
นมที่ไม่ได้เอาครีมออก 100 กรัม 3.3 มิลลิกรัม
อโวคาโด 100 กรัม 2 มิลลิกรัม
Cottage cheese 100 กรัม 1.1 มิลลิกรัม
ขนมปังโฮลวีต 100 กรัม 0.36 มิลลิกรัม
หน่อไม้ฝรั่ง 100 กรัม 0.195 มิลลิกรัม
ขนมปังขาว 100 กรัม 0.147 มิลลิกรัม
มะกะโรนี 100 กรัม 0.126 มิลลิกรัม
เนยถั่ว 100 กรัม 0.083 มิลลิกรัม
ข้าวสุก 100 กรัม 0.0449 มิลลิกรัม
ไข่ 100 กรัม 0.0121 มิลลิกรัม
น้ำส้ม 100 กรัม 0.0019 มิลลิกรัม

สำหรับคนที่มีอาการแพ้ต่ออาหารโปรตีน เช่น ไข่ นม หรือข้าวสาลี ไม่ควรกินผลิตภัณฑ์ที่เสริมแอล-คาร์นิทีนเป็นอันขาด รวมไปถึงคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เด็กที่มีอายุยังไม่ถึง 2 ขวบ และสตรีมีครรภ์ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ถ้าไม่จำเป็น หรือใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ

 

Credit : สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี (สสวท), kapook.com, th.wikipedia.org

Latest