Go to content

Dry Cow หรือ โคดราย คืออะไร? ทำไมช่วงนี้นมวัวถึงขาดตลาด?

นมขาดตลาด เพราะน้ำนมดิบไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นช่วง Dry Cow หรือ ช่วงพักเต้าของแม่วัว ประกอบกับ เกษตรกรประสบกับสถานการณ์โรคระบาด และต้นทุนการเลี้ยงสูง

นมหาย !!!! นมหมดตู้ นมขาดตลาด หลายคนคงรู้สึกว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ ทำไมถึงหาซื้อนมได้ยากขึ้น นมไม่เต็ม ไม่แน่นตู้ เหมือนก่อน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ “นม” หายจากเชลฟ์นั้น มาจากปัจจัยหลักๆ 2 ข้อคือ ช่วงนี้ถือเป็นช่วง Dry Cow หรือ ช่วงพักเต้าของเหล่าแม่วัว ประกอบกับแม่วัวจำนวนหนึ่งตายไปจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ Lumpy Skin ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี รวมๆ กับต้นทุนในการเลี้ยงวัวนมเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรหลายคนตัดสินใจเลิกเลี้ยงวัวนม หันไปทำอาชีพอื่นเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ส่งผลให้จำนวนแม่วัวที่จะผลิตน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตนมจึงน้อยลง

dry cow หรือ โคดรายคืออะไร?

ด้วยเหตุการณ์เหล่านี่นี้เอง ที่ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลง กระทบกระเทือนตรงถึงการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เนื่องจาก “นมพาสเจอร์ไรส์ ” หรือนมบรรจุขวดที่เราคุ้นตา บนเชลฟ์ตู้แช่ของซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นนมที่ใช้น้ำนมวัวแท้ 100% ในการผลิต อีกทั้งอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้การเตรียม Supply น้ำนมดิบ ทำได้ยาก ต่างจากการผลิตนม UHT หรือนมกล่องกระดาษ แบบไม่ต้องแช่เย็น ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะในการผลิตนม UHT จะใช้น้ำนมดิบ และนมผงประกอบกัน การ Supply วัตถุดิบจึงทำได้ง่ายกว่า สามารถผลิตได้มาก และเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น นม UHT จึงยังสามารถหาซื้อได้ตามปกติ

นมวัวในประเทศไทยได้มาจากวัวสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน

นมวัวแท้ 100% ในบ้านเรามาจากไหน

นมวัวที่เราบริโภคกันในประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นน้ำนมวัว ที่ได้มาจากวัวสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Friesian) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากยุโรป เจ้าวัวตัวสีขาว-ดำ ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีตามฟาร์มโคนมนมนั้นเอง

ซึ่งวัวสายพันธุ์นี้ ทางกรมปศุสัตว์เค้าได้คัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์หลัก ในการปรับปรุงพันธุ์โคนม เพื่อผลิตน้ำนมดิบไว้บริโภค ทำให้เราสามารถผลิต นม และผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมได้เอง เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ

แต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายๆ คนคงรู้สึกได้ว่า นมวัวหาซื้อได้ยากขึ้น นมขาดตลาด ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ซึ่งสถานการณ์ที่นมขาดตลาดนั้น เกิดจากปัจจัย 2 อย่างหลักๆ คือ

dry cow (โคดราย) คือช่วงพักเต้าของวัวนม

Dry Cow (โคดราย) ช่วงพักเต้าของเหล่าแม่วัว

ตามธรรมชาติของวัวสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน มักจะผสมพันธุ์ติดได้ค่อนข้างดีในช่วงที่อากาศหนาว ซึ่งตรงกับช่วงปลายปี และต้นปีของประเทศไทย หรือเดือนธันวาคม-มกราคม โดยแม่วัวจะอุ้มท้องนานประมาณ 280 วัน หรือ 9 เดือน

หลังจากที่แม่วัวคลอดลูก เกษตรกรก็จะเริ่มทำการรีดน้ำนมดิบ เพื่อขายต่อให้ผู้ผลิตนมวัว และสินค้าที่มีส่วนประกอบของนมวัว ระยะเวลาที่สามารถรีดน้ำนมจากแม่วัวได้นั้น จะเริ่มตั้งแต่ที่แม่วัวคลอดลูก ยาวไปจนถึงแม่วัวผสมพันธุ์รอบใหม่ (หลังจากที่คลอดประมาณ 90 วัน ) ซึ่งแม่วัวจะผลิตน้ำนมได้เยอะที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แล้วจะค่อยๆ ผลิตน้อยลงเรื่อยๆ และจะมีการหยุดรีดนม เพื่อพักเต้านมของแม่วัวในช่วงท้องแก่ หรือช่วงที่อุ้มท้อง 2 เดือนสุดท้าย เพื่อรักษาสุขภาพของแม่วัว ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จึงเป็นสาเหตุให้ในช่วงนี้ของทุกปี เรามักเจอกับสถานการณ์นมขาดตลาด เนื่องจากเป็นธรรมชาติของแม่วัวที่ต้องมีการพักการรีดนมในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน

แต่ว่าในปีนี้ ทำไม นมจึงขาดตลาดมากกว่าปีที่ก่อนๆ จนเริ่มเห็นว่า นมสดแบบรรจุขวด (นมพาสเจอร์ไรส์) ไม่เต็มตู้เหมือนก่อน ก็เพราะในปีนี้ มีเหตุปัจจัยที่ 2 มาซ้ำเติม สถานการณ์ Dry Cow นั่นเอง

โรค Lumpy Skin คือปัญหาใหญ่ของต้นทุนในการเลี้ยงวัว จึงทำให้นมวัวขาดตลาด

โรค Lumpy Skin และวิกฤตต้นทุน

ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ โรค Lumpy Skin ที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ช่วงนึง โรค Lumpy Skin เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยพบครั้งแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 จากการระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสพบเฉพาะในโคกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน มีพาหะนำโรคติดต่อระหว่างสัตว์และสัตว์ ได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวัน

ผลกระทบจากโรค Lumpy Skin ส่งผลให้วัวนมส่วนนึงเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา อีกทั้งเกษตรกรยังโดนผลกระทบจากวิกฤตต้นทุนแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน และอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นเหตุให้เกษตรกรเรียกร้องขอขึ้นราคาน้ำนมดิบ และเกษตรกรหลายรายขายวัว หันไปประกอบอาชีพอื่นแทน

เมื่อจำนวนวัวนมลดลงจากโรคระบาด และต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรโคนมมีลดลง ทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมสถานการณ์ Dry Cow ให้นมยิ่งขาดตลาดมากขึ้น

นมสดพาสเจอร์ไรส์กับนมกล่อง UHT ต่างกันอย่างไร

นมขาดตู้!!! นมพาสเจอร์ไรส์ หายากขึ้น

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปริมาณ Supply น้ำนมดิบของทั้งประเทศ ลดลงจาก 3,500 ตันต่อวัน เหลือประมาณ 3,000 ตันต่อวันในปีนี้

ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ นมพาสเจอร์ไรส์ หรือนมสดบรรจุขวด เช่น Meiji, Mmilk, Dutchmill, ไทยเดนมาร์ค และอื่นๆ ที่ต้องอาศัย Supply น้ำนมดิบในการผลิต เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำนมดิบมาใช้ได้เพียงพอ อีกทั้งการผลิตนมแบบพาสเจอร์ไรส์จะเป็นการผลิตวันต่อวัน ใช้นมสด 100% และเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บสั้น จึงไม่สามารถกักตุน Supply น้ำนมดิบได้ ผู้บริโภคจึงเห็นได้ว่านมพาสเจอร์ไรส์ มีการขาดตลาด หาซื้อได้ยากขึ้นในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

ในขณะที่นม UHT หรือนมบรรจุกล่อง ยังคงมีขายตามปกติ เนื่องจากกระบวนการผลิตนม UHT บางแบรนด์ และบางรสชาติ โดยเฉพาะแบบที่มีการแต่งรส มักมีนมผงเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถสต็อกเก็บไว้ได้นาน อีกทั้งนม UHT ยังสามารถเก็บไว้โดยไม่แช่เย็นได้ ดังนั้นธุรกิจนมแบบ UHT จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำนมดิบขาดตลาด ค่อนข้างน้อยกว่าแบบพาสเจอร์ไรส์

Latest