Go to content

โฮมเมด น้ำเต้าหู้ ทำเองง่ายนิดเดียว

น้ำเต้าหู้เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์และสารอาหารมากมายที่ดีต่อร่างกาย เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด ไขมันต่ำ และให้พลังงานที่พอเหมาะ

การทำน้ำเต้าหู้ไว้รับประทานเองในครอบครัวเราสามารถทำได้ไม่ยากเลยมาลองดูกันว่าอุปกรณ์ที่ใช้มีอะไรบ้าง

อุปกรณ์

  • เครื่องปั่นสับไฟฟ้า(จะให้หาโม่เห็นตอนนี้คงยาก)
  • ผ้าขาวบาง
  • หม้ออลูมิเนียมหรือหม้อเคลือบ (ถ้าหม้อสแตนเลสน้ำเต้าหู้จะไหม้ขณะต้ม)

ส่วนประกอบ

  • ถั่วเหลืองแบบเมล็ด (แบบซีกจะไม่อร่อยเท่า)
  • ใบเตย 2-3 ใบ
  • น้ำตาลทราย
  • เกลือป่นเล็กน้อย

อัตราส่วนที่ใช้

  • ถั่วเหลืองแห้ง 500 กรัม
  • น้ำสะอาด 4 ลิตร
  • น้ำตาลทราย 140 กรัม (จริงๆตามชอบนะคะ ถ้ากลัวอ้วนก็ไม่ต้อวใส่ก็ได้ค่ะ)
  • เกลือป่น 3/4 ช้อนชา

วิธีทำ

  • ล้างถั่วให้สะอาด 2-3 ครั้ง(ก่อนล้างเลือกเอาเมล็ดเสียๆและสิ่งแปลกปลอมออกก่อน)
  • เติมน้ำให้ท่วม แช่น้ำไว้อย่างน้อย 5 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 10 ชั่วโมง (ถ้านานไปถั่วจะบูด)
  • ล้างอีกครั้งแล้วเทใส่ตะกร้าให้สะเด็ดน้ำ
  • ตวงน้ำตามสูตรกำหนด (4ลิตร)
  • แบ่งใส่ในโถปั่น เติมน้ำให้เครื่องปั่นได้ปั่นจะละเอียดมากๆ จะเป็นน้ำสีขาวขุ่น
  • เทใสผ้าขาวบางบีบน้ำออกจนกากถั่วแห้งแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง
  • ใส่หม้อ ใส่ใบเตยทั้งใบที่ลงมัดเป็นปมจะได้ไม่เกะกะ(เพิ่มกลิ่นให้หอมอันนี้แล้วแต่จะหาได้นะคะ)ไปด้วย
  • ต้มไฟปานกลาง เวลาต้มให้ต้มนาน ประมาณ 50 นาที – 1ชั่วโมง (เพราะถ้าต้มเร็วเกินไปจะไม่หมดกลิ่นถั่ว จะไม่อร่อย และย่อยยากทำให้ท้องอืด)
  • หลังต้มเติมน้ำตาลทรายและเกลือป่น หรือจะไม่เติมก็ได้ ตามชอบใจ

นำเข้าตู้เย็น เก็บไว้ได้หลายวันค่ะ ถ้าชอบแบบอุ่นๆ ก็นำเข้าอุ่นในไมโครเวฟ ก็ได้น้ำเต้าหู้ร้อนๆหอมๆได้ดื่มแล้วค่ะ ใครจะเติมเครื่องอย่างลูกเดือย เม็ดแมงลัก ฟองเต้าหู้แช่น้ำ หรือเครื่องอื่นๆก็สุดแท้แต่จินตนาการค่ะ ข้อดีของการที่เราทำเองอาจจะเสียเวลาศักหน่อยแต่เรามั่นใจได้เลยว่าทุกขั้นตอนสะอาดและเลือกของที่ดีมีคุณภาพและสดใหม่แน่นอนค่ะ

น้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลือง (soybean milk, soy milk, soya milk)

ผลิตจากการนำถั่วเหลืองมาแช่ บด และต้มกับน้ำแล้วกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำมาปรุงรสหวานเป็นเครื่องดื่ม มีการศึกษาถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของถั่วเหลืองเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งอ้างถึงประโยชน์ในการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดอาการวัยทอง และลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคกระดูกพรุนด้ว ซึ่งล้วนเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่สูงวัยขึ้น นอกจากนี้ ในถั่วเหลืองยังอุดมไปยสารอาหารอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน AB, B1, B2, B6, B12 ไนอาซิน และวิตามิน C, D, E และในเมล็ดถั่วเหลืองยังมี “เลซิทิน” อันเป็นสารบำรุงสมอง เพิ่มความทรงจำ ลดไขมันในร่างกายได้อีกด้วย

ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้

  • ป้องกันโรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน อาการวัยทองและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ให้โปรตีนเกือบเท่านม มีไขมันที่ดีกว่า คือให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่านมช่วยลดโคเลสเตอรอลและลดไขมันในร่างกาย
  • โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมลดน้อยลง เนื่องจาก ไฟโตเอสโตรเจนจะไแย่งจับกับตัวรับ (Receptor) ของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย
  • ไฟโตเอสโตรเจนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน อาการวัยทอง และโรคหลอดเลือดหัวใจการรับประทานเต้าหู้วันละ 2ชิ้น จะ ได้สารไฟโตเอสโตรเจน 2 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการป้องกันกระดูกพรุน
  • การรับประทานโปรตีนถั่วเหลืองวันละ 25 กรัมสามารถลดหรือป้องกันอาการวัยทอง ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก และวิตกกังวล
  • ป้องกันการทำลาย DNA ใน lymphocyte

ข้อเสียของน้ำเต้าหู้

  • การ รับประทานไฟโตเอสโตรเจนขนาดสูง อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เพราะไฟโตเอสโตรเจนก็ทำหน้าทีเหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ดังนั้นคนที่เป็นมะเร็งเต้านม การรับประทานไฟโตเอสโตรเจนเป็นควรระวัง

คุณประโยชน์อื่นๆที่น่าสนใจในผู้หญิงและผู้ชาย

  • ช่วยลดและป้องกัน โรคมะเร็งเต้านม และ บรรเทาอาการ ข้างเคียงจาก ภาวะหมดประจำเดือน
  • ช่วยป้องกันและแก้ไข โรคหัวใจ เนื่องจากเป็นอาหารที่ไม่มีคอเรสเตอรอล มีไฟเบอร์สูง นอกจากนี้ยังมี โอเมกา 3 และวิตามินอี
  • ช่วยป้องกันและยับยั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากถั่วเหลืองมีไฟเบอร์สูง ไฟเบอร์เหล่านี้จะช่วยทำความสะอาดระบบทางเดินอาหาร
  • ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ได้
  • เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับนักมังสวิรัต เพราะถั่วเหลืองมีสารอะมิโน เอซิด ที่จำเป็นต่อร่างกาย
  • ใช้แทนน้ำนมวัว ในเด็กที่แพ้นมวัวและแพ้แลคโตสในนม
  • ใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะถั่วเหลืองมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อย และยังไม่มีคอเลสเตอรอล

References

  • variety.teenee.com
  • gotoknow.org

Latest