Go to content

มาปลูกต้นอ่อนทานตะวันกันเถอะ

กินผักอายุสั้นทำให้อายุยืนยาว ต้นอ่อนทานตะวัน ผักอุดมประโยชน์ เต็มไปด้วยสารอาหาร ที่สามารถปลูกเองได้ภายในบ้าน ดูแลรักษาง่ายและสามารถเก็บกินได้ภายใน 7 วันเท่านั้น

ต้นอ่อนของผัก หรือ ผักจิ๋ว ที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Microgreen นั้น ถือเป็นอาหารที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางอาหาร อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย จนมีคำกล่าวที่ว่า กินผักอายุสั้น ทำให้อายุยืน แถมต้นอ่อนเหล่านี้ยังมีรสชาติที่อร่อย หวานกรอบ ทานง่ายไม่เหม็นเขียว ทานได้ทุกเพศทุกวัย

ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน

ผักที่นิยนำมาปลูก และทานในช่วงเป็นต้นอ่อนได้แก่ ข้าวสาลี ถั่วลันเตา ไควาเระ ผักโขม ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ทานตะวัน และผักใบเกือบทุกชนิด สามารถนำมาปลูก และทานในช่วงเป็นต้นอ่อนได้

การปลูกต้นอ่อน (Microgreen)

การปลูกต้นอ่อนนั้น จะเป็นการปลูกผัก และเก็บเกี่ยวในช่วงของการเป็นต้นอ่อน โดยต้นอ่อนจะมีใบเลี้ยง 2 ใบ และมีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 6-7 วัน การปลูกผักจิ๋ว (Microgreen) ภายในบ้านสามารถทำได้ง่าย ใช้เนื้อที่ไม่มาก ต้องการเพียงความชื้น และ แสงแดดในช่วง 1-2 วันก่อนเก็บเกี่ยวเท่านั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกผัก หรือคนที่ล้มเหลวจากการปลูกผักสวนครัว หรือ เด็กๆ ก็สามารถทำได้

การปลูก Microgreen นอกจากเป็นกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันในบ้านแล้ว ยังทำให้เราได้ทานผักสดๆ ที่ปลูกด้วยฝีมือเราเอง และมั่นใจได้ว่าผักที่เราปลูกนั้นปราศจากสารเคมีใดๆ แถมประหยัดเงินไม่ต้องไปเสียสตางค์ซื้อต้นอ่อนตามซุปเปอร์มาเก็ต ที่มีราคาค่อนข้างสูงอีกด้วย

ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน วันที่ 5

มาปลูกต้นอ่อนทานตะวันกัน

ต้นอ่อนทานตะวันเป็น Microgreen อีกชนิดที่ได้รับความนิยม รสชาติอร่อย นำมาทำอาหารได้หลากหลาย ทานได้ทั้งแบบสดๆ และนำไปปรุงสุกต้นอ่อนทานตะวัน 1 ถ้วย (85 g.) จะให้พลังงานอยู่ที่ 45 kcal โดยจะเป็นพลังงานจากไขมัน 35 kcal เนื่องจากต้นอ่อนของทานตะวัน จะมีไขมันอยู่ ประกอบด้วย ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งไขมันที่อยู่ในต้นอ่อนทานตะวันนั้น ล้วนแต่เป็นไขมันชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่จะช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด นอกจากนี้ยังมี คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ โปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็กสูงอีกด้วย

สารอาหารอีกตัวที่จะพบในต้นงอก และต้นอ่อนของพืชคือ GABA (gamma aminobotyric acid) ซึ่งมีสรรพคุณ และ คุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน ช่วยบำรุงเซลล์สมอง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ช่วยบำรุงผิว บำรุงสายตา และป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน จึงช่วยชะลอความแก่ชราได้

เตรียมดิน

วัสดุ และ อุปกรณ์

  • ตะกร้าพลาสติก ขนาด กว้าง 18 cm x ยาว 26 cm x สูง 7 cm หรือตะกร้าอื่นๆ ขนาดตามต้องการ ( ขนาดที่เลือกมาเป็นขนาดที่เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเพียงพอกับรับประทาน 2-3 มื้อ ) สำหรับใครไม่อยากลงทุนเยอะสามารถใช้ขวดน้ำพลาสติก หรือ แกลลอนนม ขนาด 2 ลิตร นำมาตัดครึ่ง แล้วเจาะรูที่ก้นก็ได้
  • เมล็ดทานตะวัน (ชนิดกินต้นอ่อน)
  • ขุยมะพร้าว
  • ปุ่ยมูลไส้เดือน หรือ ขี้เถ้าแกลบ
  • ดิน
  • แกลบดิบ
  • กระบอกฉีดน้ำ 
  • พลาสติก ปิดบังแสง
  • ผ้า
  • กล่องพลาสติกสำหรับบ่มเมล็ด 
  • น้ำสะอาด

วีดีโอวิธีการปลูกต้นอ่อนทานตะวัน

วิธีการปลูกต้นอ่อนทานตะวัน

วันที่ 1 แช่น้ำ

ล้างทำความสะอาดเมล็ดทานตะวัน และแช่น้ำทิ้งไว้ 8-12 ชม.

แช่เมล็ดต้นอ่อนทานตะวันในน้ำ

วันที่ 2 บ่มเมล็ด

นำเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้วกรองน้ำออก นำมาห่อด้วยผ้าชุบน้ำให้ชุ่มแล้วเก็บไว้ในกล่องพลาสติก ปิดฝาทิ้งไว้ 24 ชม.

Note: ใน Clip VDO บ่มเมล็ดนานเกินไป เกินเวลาไป 5 ชม. จึงทำให้รากของของต้นอ่อนค่อนข้างยาว

เพาะเมล็ดต้นอ่อนทานตะวัน

วันที่ 3 เริ่มลงตะกร้าเพาะ

นำพลาสติกทึบแสงมาตัดให้พอดีกับขนาดของหน้าดิน เพื่อให้ปิดกันแสงไม่ให้โดนต้นอ่อนในช่วงวันที่ 4-5

เตรียมผสมดินปลูก โดยร่อนส่วนผสมทั้งหมดซึ่งได้แก่ ขุยมะพร้าว ดิน ปุ๋ยขี้ไส้เดือน หรือ ขี้เถ้าแกลบ และแกลบดิบในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ร่อนด้วยตะกร้าที่มีรูขนาดเล็กเพื่อให้ได้ดินที่ร่วน และนุ่ม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ถ้าดินปลูกที่ผสมมีลักษณะแห้งเกินไป ให้ฉีดน้ำลงไป ลองนำมือขยำดู ให้ดินปลูกจับตัวเป็นก้อนไม่แตกออกถือว่าใช่ได้

สำหรับตะกร้าที่มีรูที่ก้นเยอะ ให้รองด้วยกระดาษเอกสารสีขาวพรมน้ำให้เปียก เพื่อไม่ให้ส่วนของดินปลูกร่วงลงมา สำหรับตะกร้าที่มีก้นลึก สามารถรองด้วยเศษไม้ หรือ กาบมะพร้าวสับก่อนก็ได้ จากนั้นนำดินปลูกที่เตรียมไว้ใส่ให้ทั่ว กดหน้าดินให้เสมอกันแบบหลวมๆ ให้ความสูงของดินอยู่ที่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความสูงตะกร้า

เมล็ดทานตะวันที่บ่มไว้ มีรากเล็กๆ แตกออกมา

นำเมล็ดทานตะวันที่บ่มไว้ จนมีรากเล็กๆ แตกออกมา มาโรยให้ทั่วหน้าดิน พยายามให้เต็มทุกพื้นที่ เท่าๆกัน จากนั้นนำดินปลูกอีกส่วนนึงมากลบเมล็ดทานตะวันบางๆ แล้วฉีดรดน้ำให้ชุ่ม ปิดหน้าดินด้วยพลาสติกที่เตรียมไว้ อาจจะใช้ แก้วหรือของที่มีน้ำหนักวางทับไว้ด้านบน เพื่อบังคับให้ต้นอ่อนงอกขึ้นมาเสมอกัน จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ชื้น และไม่โดนแสง อาจจะเป็นมุมในห้อง ในห้องน้ำ หรือ เก็บไว้ในกล่องโฟมก็ได้

ต้นอ่อนทานตะวัน
วันที่ 4 รดน้ำเช้า เย็น

วันที่ 4 รดน้ำเช้า เย็น

เปิดพลาสติกที่ปิดไว้ออก จะเริ่มเห็นต้นอ่อนค่อยๆ แทงตัวขึ้นจากดิน ใช้กระบอกฉีดน้ำรดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ปิดพลาสติกที่หน้าดิน ทับด้วยน้ำหนัก และวางไว้ในที่ที่ไม่โดนแสงอย่างเดิม

ลดน้ำต้นอ่อนทานตะวันเช้า-เย็น

วันที่ 5 ต้นอ่อนจะเริ่มตั้งต้นสูงขึ้น รดน้ำเช้า เย็น

ในวันนี้ต้นอ่อนเริ่มมีขนาดสูงขึ้น ใบบางส่วนเริ่มหลุดจากเปลือกของเมล็ด ให้รดน้ำตามปกติเช้า และเย็น หากพลาสติกเริ่มปิดยาก ให้นำผ้าชุบน้ำมาคลุมทับพลาสติก และทับด้วยน้ำหนัก เพื่อให้ต้นอ่อนยาว และสูงขึ้นเสมอกัน วางไว้ในที่ไม่โดนแสงอย่างเดิม

ต้นอ่อนทานตะวัน วันใกล้เก็บเกี่ยว

วันที่ 6 ปล่อยให้โตอย่างเสรี

วันนี้จะเป็นวันที่ต้นอ่อนโตใกล้เก็บเกี่ยวได้ ให้นำผ้า และพลาสติกที่คลุมออก แล้วปล่อยให้โตยืดลำต้นอย่างเสรี ภายในห้องที่ไม่โดนแสงแดด หรือมีแสงรำไร แล้วเก็บเปลือกที่ติดอยู่ที่ต้นอ่อนออกให้หมด รดน้ำตามปกติ เช้า และ เย็น

วันที่ 7 โดนแสงแดดเป็นครั้งแรก พร้อมเก็บเกี่ยว

ต้นอ่อนที่ปลูกยังไม่ได้รับแสงแดดจึงทำให้ใบมีสีเหลือง ในวันนี้ให้นำต้นอ่อนไปโดนแสงแดด และ รดน้ำตามปกติ เมื่อใบของต้นอ่อนเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวทั้งหมด ก็สามารถตัดได้ นำไปล้างทำความสะอาด และแช่น้ำทิ้งไว้ 20 นาที แล้วสเด็ดน้ำ ผึ่งให้แห้ง เก็บในถุงพลาสติกที่รองด้วยกระดาษทิชชู และแช่ไว้ในตู้เย็น

นำต้นอ่อนทานตะวันไปโดนแสงแดด

ต้นอ่อนทานตะวันที่ปลูกเอง และจัดเก็บตามวิธีข้างต้น จะสามารถเก็บไว้ในตัวเย็น และคงความสดได้ 1-2 สัปดาห์เลยทีเดียว ใครชอบเมนูแบบไหนก็สามารถนำไปทำได้ตามต้องการ จะนำไปทำต้มจืด ผัดน้ำมันหอย กินเป็นสลัด หรือนำไปทำเป็นส้มตำรสจัดจ้านแบบไทย ก็อร่อยได้รสชาติความสดกรอบ และมั่นใจได้ว่าต้นอ่อนทานตะวันที่เราปลูกเองนั้น สะอาดและปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน

เก็บเกี่ยวต้นอ่อนทานตะวันที่ปลูกไว้

Tips. การปลูกต้นอ่อนทานตะวัน

  • การปลูกด้วยการทับปิดหน้าดิน ทำให้ได้ต้นอ่อนที่มีความสูงใกล้เคียงกัน และโตขึ้นพร้อมๆ กัน ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และการดูแล
  • ไม่ควรโรยเมล็ดที่บ่มแล้วในตะกร้า แน่นจนเกินไป และการรดน้ำก็ให้รดแต่พอชุ่ม ไม่แฉะจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เป็นเชื้อราที่โคนต้นได้
  • เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ดินที่ใช้ปลูกสามารถนำไปเป็นปุ๋ยหมักร่วมกับเศษอาหารภายในบ้านอื่นๆได้ แต่ไม่ควรนำมาปลูกซ้ำ เนื่องจากสารอาหารในดินไม่เพียงพอทำให้ต้นอ่อนรุ่นต่อไปมีขนาดเล็ก และแกร็นได้
ต้นอ่อนทานตะวันที่ตัดแล้ว

References

เรียบเรียง : lovefitt.com

  • สสส
  • jonathanssprouts.com
  • health.kapook.com
  • naturalsociety.com

Latest