Go to content

โยเกิร์ตโฮมเมด ทำเองได้ไม่ใช่เรื่องยาก

โยเกิร์ตอาหารมีประโยชน์จากนม มีโพรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเราสามารถทำโยเกิร์ตไว้กินเองได้ จากการต่อเชื้อ และทำการบ่มได้แบบง่ายๆ ทั้งประหยัด สด และอร่อยด้วยฝีมือเรา

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์จากนม ที่เมื่อพูดถึงคงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก โยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว อาหารที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน เป็นอาหารที่รวมอยู่ในโภชนาการของชนเผ่าทราเซียน อันเป็นบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดของชาวบัลแกเรีย ซึ่งเชื่อว่าโยเกิร์ตนอกจากเป็นวิธีการถนอมอาหารประเภทนมในรูปแบบนึงแล้ว โยเกิร์ตยังเป็นอาหารโภชนาการสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ประโยชน์ที่ไม่ธรรมดา ของโยเกิร์ต

โยเกิร์ตเป็นอาหารมีปรโยชน์เรื่องโพรไบโอติก(จุลินทรีย์ที่มีชีวิต) มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน ยิ่งระยะหลังมีงานวิจัยมากมายยืนยันว่า การกินอาหารที่มีโพรไบโอติกเป็นประจำ ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ช่วยรักษาสมดุลระดับจุลินทรีย์ตัวดีในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย

นอกจากนี้ โยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยว ยังอุดมไปด้วยโปรตีน และ วิตามิน B12 ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมสด เช่น โปรตีนเคซีนในนมเปรี้ยว จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ดีกว่า เพราะย่อยสลายได้ง่ายกว่า

กว่าจะเป็นโยเกิร์ต

โยเกิร์ตเกิดจากการบ่มนมสดในอุณหภูมิที่เหมาะสม ปล่อยให้จุลินทร์เจริญเติบโต ซึ่งจุลินทรีย์จะกินน้ำตาลแลคโตสในนมเป็นอาหาร พร้อมกับปล่อยกรดแลคติกออกมา ทำให้นมมีเนื้อสัมผัสที่เปลี่ยนไป เกิดความข้นหนืด มีกลิ่นบูด และมีรสเปรี้ยว โยเกิร์ตที่เราคุ้นเคยมักทำจากนมวัว ซึ่งความจริงแล้ว โยเกิร์ตสามารถทำจากน้ำนมได้หลากหลายชนิด ทั้งนมจากสัตว์ อย่างนมแพะ นมแกะ และนมม้า หรือแม้กระทั้งนมจากพืชอย่างนมถั่วเหลืองก็นำมาทำโยเกิร์ตได้

โยเกิร์ตก็ทำเองได้

เราสามารถทำโยเกิร์ตเองได้ที่บ้าน โดยใช้หัวเชื้อจุลินทร์สายพันธ์ที่มีประโยชน์ และได้รับการรับรองว่าปลอดภัย ที่จะมีขายในรูปบบเม็ดเเคปซูล มาผสมกับนมสด และบ่มทิ้งไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ด้วย แคปซูลหัวเชื้อจุลินทรีย์ในบ้านราหาซื้อยาก โยเกิร์ตฉบับโฮมเมด จึงต้องอาศัยการต่อเชื้อจุลินทรีย์จากโยเกิร์ตที่มีขายในซุเปอร์มาร์เก็ต โดยหลักการก็คือการปลุกน้องจุลินทร์ โดยการเพิ่มอาหาร ทำให้ปริมาณจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น เปลี่ยนนมสดให้กลายเป็นโยเกิร์ต

หลังจากนั้นเราก็จะสามารถต่อเชื้อจากโยเกิร์ตที่เราทำเอง ไปได้เรื่อยๆ เรียกง่ายๆ ว่าถ้าเป็นคนที่กินเป็นประจำ การลงทุนครั้งเดียว ก็ทำให้เรามีโยเกิร์ตแบบเนเวอร์ดายส์กินได้ตลอดเลยทีเดียว

วัตถุดิบสำหรับการทำโยเกิร์ตฉบับบโฮมเมด

  • นมสดพาสเจอร์ไรส์ ชนิดเต็มมันเนย (หรือใครคุมเรื่องไขมัน จะใช้เป็นนมสดพร่องมันเนยก็ได้) 1 ลิตร ให้พลังงาน 610 kcal
  • นมผงชนิดเต็มมันเนย (หรือขาดมันเนยก็ได้ ตามระดับสุขภาพ) 4 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงาน 160 kcal
  • โยเกิร์ตชนิดถ้วยแบบที่ชื่นชอบ (ชอบสไตล์บัลแกเรีย หรือ สไตล์กรีก แบบไหนก็ได้เลือกได้เลย) 2-3 ช้อนโต๊ะ ให้พลังงานต่อช้อน 70 kcal

วิธีการทำโยเกิร์ตฉบับโฮมเมด

  • ต้มน้ำนมให้เกือบเดือด ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศา(°C) หรือสังเกตว่านมเริ่มมีฟองเดือดที่ขอบหม้อ
  • เติมนมผงลงไป คนให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
  • ตั้งนมทิ้งไว้ ให้อุณหภูมิในน้ำนมลดต่ำลง ประมาณ 50-60 องศา(°C) หรือถ้าใครไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ก็ให้ใช้วิธีหยดเทสที่ท้องแขน ถ้ารู้สึกว่านมอุ่นๆ ไม่ร้อน ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
  • เติมหัวเชื้อโยเกิร์ตลงไป คนให้เข้ากัน
  • เทใส่ภาชนะที่มีฝาปิด แล้วบ่มด้วยการหอผ้าหนาๆ หรือบ่มในกล่องโฟม ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง ประมาณ 4-5 ชม. หรือ ถ้าอากาศในบ้านใครเย็นกว่านั้นก็บ่มให้นานขึ้นก็ได้ เช็คดูว่าโยเกิร์ตเริ่มเซ็ตตัว เนื้อแข็งเป็นตัว ก็นำเข้าตู้เย็น ทิ้งไว้ตู้เย็นประมาณ 12-24 ชม. ก็นำมากินได้แล้ว

วีดีโอ วิธีการทำโยเกิร์ต

เกร็ดเล็กๆ ของการทำโยเกิร์ตฉบับโฮมเมด

วิธีการทำโยเกิร์ตโดยการต่อเชื้อแบบนี้ไม่ยุ่งยาก แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้ได้โยเกิร์ตที่มีเนื้อสัมผัส และรสชาติดีเหมือนโยเกิร์ตที่ขายกัน

เรื่องนมๆ

ทำไมถึงต้องใส่นมผงเพิ่ม เชื่อว่าหลายคนสงสัย อันที่จริงจะไม่ใส่ก็ไม่ว่ากัน การใส่นมผงเข้าไปเป็นการเพิ่มปริมาณไขมันให้กับน้ำนม เพราะน้ำนมวัวในบ้านเรามีปริมาณไขมันไม่สูงมากนัก

การใส่นมผงลงไป จะช่วยเพิ่มความข้นเหนียว ทำให้เนื้อโยเกิร์ตเซ็ตตัวเป็นครีมมากขึ้น ซึ่งถ้าใครกังวัลเรื่องปริมาณไขมัน จะไม่เติมนมผง หรือจะเลือกเป็นนมผงชนิดขาด หรือพร่องมันเนยก็ได้ โยเกิร์ตที่ได้ก็จะมีเนื้อสัมผัสต่างไปเล็กน้อย แต่เรื่องประโยชน์ของโพรไบโอติกก็ไม่ได้ด้อยลงแต่อย่างใด

เรื่องของการเลือกน้ำนมสดก็เช่นกัน เพื่อความสะดวก หาซื้อง่าย การใช้นมพาสเจอร์ไรส์ ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกดี ชอบกลิ่น รสชาติ ยี่ห้อไหนก็เลือกอันนั้น ขอให้เป็น นมโคแท้ 100% เป็นใช้ได้ หรือถ้าใครสามารถหาซื้อน้ำนมดิบมาได้ ยิ่งดี ก็จะทำให้ได้เนื้อสัมผัส กลิ่น และรสชาติที่ต่างไป

เรื่องของภาชนะที่ใช้กับการทำโยเกิร์ต

เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์ ควรใส่ใจเรื่องความสะอาดของภาชนะที่ใช้ในการทำโยเกิร์ต ล้างทำความสะอาด หรือนึ่งด้วยความร้อน แล้วผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้งานทุกครั้ง

เรื่องของอุณหภูมิ

อีกหนึ่งปัจจัยในการกำหนดชะตากรรมของน้องจุลินทรีย์คือ อุณหภูมิ โยเกิร์ตจะเป็นโยเกิร์ตได้ ต้องมีจุลินทรีย์ที่ดีอย่างเพียงพอ จุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ในอุณหภูมิประมาณ 20-40 องศา(°C)

การต้มนมในขั้นตอนแรก จะเป็นการกำจัดจุลินทรีย์บางชนิดที่เราไม่ต้องการออกไป และช่วยเพิ่มอุณหภูมิน้ำนมขึ้น เพื่อให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของน้องจุลินทรีย์ และการบ่มในอุณภูมิที่พอเหมาะพอดี ก็จะทำให้โยเกิร์ตเป็นโยเกิร์ตเร็วขึ้น

คนไหนที่ทำแล้ว โยเกิร์ตที่ได้เหลวไป ให้ลองเพิ่มปริมาณหัวเชื้อ หรือเช็คอุณหภูมิตอนใส่ ตอนบ่ม หรือลองบ่มให้นานขึ้นก็ได้

นอกจากนี้ระยะเวลาของการบ่มก็เป็นตัวกำหนดรสชาติของโยเกิร์ตได้ด้วย ถ้าชอบโยเกิร์ตที่ไม่เปรี้ยวมากนัก ก็บ่มในอุณภูมิสูงให้สั้นลงนิด ไปเพิ่มการบ่มในตู้เย็นให้นานขึ้น

เพราะหลักการคือ จุลินทรีย์ที่กินน้ำตาลเป็นอาหาร จะผลิตกรดกรดแลคติกออกมา จุลินทรีย์เติบโตเร็ว ปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ก็กินอาหารมาก ก็ผลิตกรดออกมามาก โยเกิร์ตจึงมีรสเปรี้ยวสูงขึ้นนั้นเอง

เรื่องของการเก็บรักษา

โยเกิร์ตฉบับโฮมเมดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ระยะเวลานึงเลย แต่เพื่อความสดใหม่ และรสชาติที่ดี ก็ควรกินให้หมดภายใน 5-7 วัน เรียกว่า ทำน้อยๆ ทำบ่อยๆ ดีกว่า แล้วก็นำโยเกิร์ตที่เราทำส่วนนึงมาต่อเชื้อตามขั้นตอนต่อไปได้เรื่อยๆ

บอกแล้วว่าทำโยเกิร์ตกินเองง่ายจะตาย แอบกระซิบว่า (ความเห็นส่วนตัว) โยเกิร์ตที่ทำเองอร่อย สดใหม่ หอมละมุนกว่าโยเกิร์ตที่ซื้อนะ เวลากินใครชอบเครื่องแบบไหนรสอะไร จะเพิ่มรสชาติด้วยสตอรเบอร์รี่ซอส น้ำผึ้ง กราโนล่า กล้วย ผลไม้สด ก็เติมได้สไตล์ ส่วนปริมาณก็กะเอาตามความต้องการการใช้พลังงานของแต่ละคน กินมากก็ต้องออกแรงใช้พลังงานกันมากๆ จะได้ไม่อ้วนนะ

Latest